น่ารักอะ


ความรู้มากมาย

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แห่เทียนอุบลราชธานี






งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนา ของชาวอุบลฯ ซึ่งมีความเจริญในพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนาน ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 และแรม 1 ค่ำเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา จัดให้มีขึ้นทุกปี
          จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ ได้ความว่า ชาวอุบลราชธานี ได้ทำต้นเทียนประกวดประชันความวิจิตรบรรจงกัน ตั้งแต่ พ.ศ.2470 จนเมื่อปี พ.ศ.2520 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมโหฬาร สถานที่จัดงานคือ บริเวณทุ่งศรีเมืองและศาลาจตุรมุข มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียน จะเคลื่อนขบวนจาก หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ไปตามถนน มาสิ้นสุดขบวนที่ทุ่งศรีเมือง และการแสดงสมโภชต้นเทียน แลเป็นแสงไฟต้องลำเทียนงามอร่ามไปทั้งงาน ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี มีชื่องานแต่ละปี ดังนี้
          ปี พ.ศ. 2542 มีชื่องานว่า "งานแห่เทียนพรรษา เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา" เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่มาของ "เทียนเฉลิมพระเกียรติฯ" ที่ทุ่งศรีเมือง
          ปี พ.ศ. 2543 มีชื่องานว่า "หลอมบุญบูชา ถวายไท้นวมินทร์" มีความหมายว่า การหล่อเทียนพรรษาของชาวอุบลฯ เพื่อบำเพ็ญกุศลร่วมกัน การหล่อหลอมจิตศรัทธาให้เป็นหนึ่งเดียว เปรียบประดุจการหลอมบุญบูชา เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์
          ปี พ.ศ. 2544 มีชื่องานว่า "งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบลฯ" เนื่องจากเทียนพรรษาได้วิวัฒนาการไปจาก "ภูมิปัญญาดั้งเดิม" จนแทบจะจำเค้าโครงแต่โบราณไม่ได้ จึงได้มีการหันกลับมาทบทวนการจัดงานแห่เทียนพรรษา ตามภูมิปัญญาของชาวอุบลฯ ตั้งแต่เดิมมา
          ปี พ.ศ. 2545 มีชื่องานว่า "โรจน์เรือง เมืองศิลป์" ด้วยเหตุที่ ททท.ได้เลือกงานแห่เทียนพรรษจังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานที่โดดเด่นที่สุดของประเทศในเดือนกรกฎาคม ตามโครงการ "เที่ยวทั่วไทย ไปได้ทุกเดือน" จึงจัดให้มีกิจกรรมการท่องเที่ยวตลอดเดือน อาทิ ได้เชิญช่างศิลป์นานาชาติประมาณ 15 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น มาร่วมแข่งขันการแกะสลักขี้ผึ้งตามสไตล์งานศิลปะแต่ละชาติ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มาชมงานตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม 2545 ชื่องาน "โรจน์เรือง เมืองศิลป์" เป็นคำย่อมาจากคำเต็มที่ว่า "อุบลฯ เมืองนักปราชญ์ รุ่งโรจน์ศาสตร์ เรืองรองศิลป์ ถิ่นไทยดี"





          ปี พ.ศ. 2546 มีชื่องานว่า "สืบศาสตร์ สานศิลป์" เนื่องจากงานประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นการ "สืบทอดศาสนาและสืบสานงานศิลปะ" ดังคำกล่าวที่ว่า "เทียนพรรษา คือ ภูมิศิลปะแห่งศรัทธา" เพื่อความกระชับ จึงใช้ ชื่อว่า "สืบศาสน์ สานศิลป์" แต่โดยเหตุที่มีผู้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า คำว่า "ศาสตร์" มีความหมายกว้างกว่า ชื่องานจึงเป็น "สืบศาสตร์ สานศิลป์" ด้วยเหตุนี้
          ปี พ.ศ. 2547 มีชื่องานว่า "ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา เทิดไท้ 72 พรรษา มหาราชินี" เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ พระแม่-แม่พระ ของแผ่นดิน
          ปี พ.ศ. 2548 มีชื่องานว่า "น้อมรำลึก 50 ปี พระบารมีแผ่คุ้มเกล้าฯ ชาวอุบลฯ" เนื่องจากเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2498 ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จเยือนอุบลราชธานี ยังความปลาบปลื้มปิติแก่ชาวอุบลฯ เป็นล้นพ้น เพราะตั้งแต่สร้างบ้านเมืองมาเกือบ 200 ปี ยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จเยี่ยม หรือทรงใกล้ชิดกับราษฎรอย่างไม่ถือพระองค์เช่นนี้ ชาวอุบลฯ ทุกหมู่เหล่า ต่างพร้อมน้อมรำลึกด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเหล้าล้นกระหม่อม พระบารมีแผ่คุ้มเกล้าฯ ชาวอุบลฯ ปิติล้นพ้น ตลอดระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมาและตลอดไป
          ปี พ.ศ. 2549 มีชื่องานว่า "60 ปี พระบารมีแผ่ไพศาล งามตระการเทียนพรรษา เทิดราชัน" เพื่อแสดงความจงรักภักดี
ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น