น่ารักอะ


ความรู้มากมาย

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จดหมายเหตุกรุงศรี ตอน เมืองอุบลราชธานี





ประวัติจังหวัดอุบลราชธานี


ตำนานเมืองอุบล ได้กล่าวกันถึงการสืบเชื้อสายจากเจ้านครเชียงรุ้ง แสนหวีฟ้า ของเจ้าปางคำ พระบิดา ของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ โดยกล่าวถึง ปี พ.ศ.2228 เกิดวิกฤตทางการเมือง ในนครเชียงรุ้ง เนื่องจาก จีนฮ่อหัวขาว หรือฮ่อธงขาว ยกกำลัง เข้าปล้นเมืองเชียงรุ้ง เจ้านครเชียงรุ้ง ได้แก่ เจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารี เจ้าปางคำ อพยพไพร่พล จากเมืองเชียงรุ้ง มาขอพึ่งพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งเป็น พระประยูรญาติ ทางฝ่ายมารดา พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โปรดให้นำไพร่พลไปตั้งที่ เมืองหนองบัวลุ่มภู เมือง หนองบัวลุ่มภู จึงอยู่ในฐานะ พิเศษ คือไม่ต้อง ส่งส่วย บรรณาการ มีสิทธิสะสม ไพร่พล อย่างเสรีเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับ เวียงจันทน์ มีชื่อว่า "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" สันนิษฐานว่า น่าจะมีฐานะ เป็นเมืองลูกหลวง ต่อมา พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้ เจ้าอินทกุมาร เสกสมรส กับ พระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ได้โอรส คือ เจ้าคำ หรือเจ้าองค์นก ให้เจ้า นางจันทกุมารี เสกสมรสกับ พระอุปยุวราช ได้โอรส คือ เจ้ากิงกีศราช และ เจ้าอินทโสม ซึ่งต่อมา คือบรรพบุรุษของ เจ้านายหลวงพระบาง ส่วนเจ้าปางคำ ให้เสกสมรสกับ พระราชนัดดา ได้โอรส คือ เจ้าพระตา เจ้าพระวอ สันนิษฐานว่า ทั้งสองท่านเป็นเสนาบดี กรุงศรีสัตนาคนหุต ตั้งแต่สมัย พระไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (ชัยวงค์เว้) พระอัยกาของ พระเจ้า สิริบุญสาร การดำรงฐานะเป็น เจ้านายเชื้อสายพระราชวงศ์ ของพระเจ้าวอ พระเจ้าตา เห็นได้จากหลักฐาน หลายประการ อาทิ การที่หนองบัว ลุ่มภู เป็นเมือง ใหญ่ มีไพร่พลมาก ดังปรากฎเมืองหน้าด่านทั้งสี่ คือ เมืองภูเขียว ภูเวียง เมืองผ้าขาว เมืองพันนา และ การที่ เมืองอุบล ดำรง ฐานะเป็น เจ้าประเทศราชเมื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ของพระมหากษัตริย์ ไทย ต่างจากเมืองเขมร ป่าดงอื่นๆ และเมื่อกำเนิด พ.ร.บ. นามสกุล โปรด พระราชทานนามสกุล "ณ อุบล" อันหมายถึง เชื้อสายเจ้านาย อุบลราชธานี แต่โบราณ เมื่อเจ้านายอุบล ถึงแก่อสัญกรรม ก็มี ประเพณี การทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ อันสืบมาจากนครเชียงรุ้ง ในเชียงใหม่ ก็ปรากฎการ ทำศพแบบนกหัสดีลิงค์เช่นเดียวกัน
การตั้งเมืองอุบลราชธานี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บ้านเมือง ค่อนข้างสงบก็ทรงมี นโยบายที่จะ จัดตั้งเมือง ให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการรวบรวมไพร่พลให้เป็นปึกแผ่น เพื่อความสงบสุข สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึง เรื่องนี้ว่า "…รัชกาล ที่ 1 ถึงรัชการที่ 3 ให้เจ้าเมืองร้าง เที่ยวเกลี้ยกล่อมหา ผู้คนมาเป็นพลเมือง โดย ไม่ต้องใช้อำนาจ อาจทำได้ด้วยยินดีด้วยกัน ทุกฝ่ายก็สำเร็จ ประโยชน์ ถึงความมุ่งหมาย เจ้าเมืองไหนเกลี้ยกล่อมคนมาได้มาก ก็ได้ทรัพย์เศษส่วน และได้ผู้คนสำหรับอาศัยใช้สอยมากขึ้น ก็เต็มใจขวนขวาย ตั้งบ้านเมือง ฝ่ายราษฎรที่ไปเที่ยวหลบลี้ เดือดร้อนลำบากมากอยู่ เมื่อรู้ว่า บ้านเมืองเรียบร้อยอย่างเดิม ก็ยินดีที่จะกลับมา โดยมาก……" คงจะเป็น เพื่อสนองตอบ พระบรมราโชบาย ในการตั้งเมืองดังกล่าวมาแล้ว และเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพของ ไพร่บ้านพลเมือง "….ในปี พ.ศ.2329 ( จุลศักราช 1148 ปีมะเมีย นพศก) พระประทุมจึงย้ายครอบครัวไพร่พลมาตั้งอยู่ ณ ตำบลแจระแม ตือตำบล ที่ตั้ง อยู่ทาง ทิศเหนือ เมืองอุบลปัจจุบัน….."
สถาปนาเมืองอุบลราชธานี พ.ศ.2335 พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) ได้พาพรรคพวกไพร่พลตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยแจระแม (บริเวณบ้าน ท่าบ่อ ในปัจจุบัน) ด้วยความปกติสุขเป็นเวลานานหลายปี จนกระทั่ง พ.ศ.2334 (จุลศักราช 1153 ตรีศก) อ้ายเชียงแก้ว ซึ่งตั้งบ้านอยู่ที่ตำบลเขาโองแขวง เมืองโขง คิดการกบฎ พาพรรคพวก ไพร่พลเข้ายึดนครจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เจ้าเมืองซึ่งกำลังป่วยอยู่ก็มี อาการป่วยทรุดหนัก และถึงแก่พิราลัย อ้ายเชียงแก้วจึงยึดเมือง นครจำปาศักดิ์ไว้ได้ ความทราบ ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เมื่อครั้งเป็น พระพรหม ยกกระบัตร ยกกองทัพเมืองนครราชสีมามาปราบกบฎอ้ายเชียงแก้ว อย่างไรก็ดีขณะที่กองทัพนครราชสีมายกมาไม่ถึงนั้น พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) และท้าวฝ่ายหน้า ผู้น้อง ที่ตั้งอยู่บ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธร) ได้ยกกำลังไปรบอ้ายเชียงแก้วก่อน ทั้งสองฝ่าย ได้สู้รบกันที่บริเวณ แก่งตะนะ (อยู่ในท้องที่ อำเภอโขงเจียม) กองกำลัง อ้ายเชียงแก้วแตกพ่ายไป อ้ายเชียงแก้วถูกจับได้ และถูกประหารชีวิต เมื่อกองทัพ เมืองนครราชสีมายกมาถึงเมืองจำปาศักดิ์ เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อยแล้ว จึงพากันยกกองทัพ ไปตีพวกข่า "ชาติกระเสงสวาง จะรายระแดร์" ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง จับพวกข่าเป็นเชลย ได้เป็นจำนวนมาก จากความ ดีความชอบในการปราบปรามกบฎอ้ายเชียงแก้วนี้เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช จึงได้ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ท้าวฝ่ายหน้าเป็น พระวิไชยราชขัตติยวงศา ครองนครจำปาศักดิ์ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระประทุม สุรราช เป็นพระประทุม วรราชสุริยวงศ์ ครอง เมืองอุบลราชธานี พร้อมกับยกฐานะบ้านห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 (พ.ศ.2335) ดังปรากฎ ในพระสุพรรณบัตรตั้ง เจ้าประเทศราชในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่า "….ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้า ผู้ผ่าน พิภพกรุงเทพ มหานครศรีอยุธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ตั้งให้ พระประทุม เป็นพระประทุมวรราช สุริยวงศ์ ครองเมือง อุบลราชธานี ศรีวนาไลยประเทศราช เศกให้ ณ วัน 2 แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 ปีจัตวาศก..."

การตั้งเมืองต่างๆ ในอุบลราชธานี ภายหลังการก่อตั้งเมืองอุบลขึ้นแล้ว ได้มีการตั้งเมืองสำคัญในเขตปกครอง ของจังหวัด อุบลราชธานี ปัจจุบัน ขึ้นอีกหลายเมืองดังนี้



1. เมืองยโสธรเดิมทีเดียวมีฐานะเป็นหมู่บ้าน ชื่อบ้านสิงท่า ท้าวฝ่ายหน้า (บุตรพระตา)เคยอพยพ ครอบครัว และไพร่พล มาตั้งหลักแหล่ง อยู่แล้ว ครั้งหนึ่ง ใน ราวปี พ.ศ.2329 แต่เมื่อคราวปราบกบฎ อ้ายเชียงแก้ว เมื่อปี 2334 ท้าวฝ่ายหน้าก็ได้รับ พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระวิไชยราชสุริยวงศ์ ขัตติยวงศา ครองเมืองนครจำปาศักดิ์ต่อจากพระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) ที่ถึงแก่กรรมลง ต่อมาในปี พ.ศ.2357ราชวงศ์ (สิง) เมืองโขง ซึ่งเป็นญาติกับ พระวิไชยราชสุริยวงศ์ขัตติยวงศา เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ไม่พอใจ ที่จะทำราชการกับ เจ้าเมืองนครจำปาศักด์ จึงพาครอบครัวไพร่พลอพยพ ไปตั้งอยู่ที่ บ้านสิงท่า พร้อมมีหนังสือกราบบังคมทูลขอยกขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด้จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งบ้านสิงท่า เป็นเมืองยโสธร เมื่อปี พ.ศ.2357 พร้อมกับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ราชวงศ์ (สิง) เมืองโขง เป็นพระ สุนทรราชวงษาเจ้าเมืองยโสธร พร้อมโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวสีชา (หรือ สีทา) เป็นอุปฮาดท้าวบุตรเป็นราชบุตร ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ โดยให้ผูกส่วย น้ำรัก 2 เลกต่อ เบี้ย ป่าน 2 เลก ต่อขอด

2. เมืองเขมราฐในปี พ.ศ.2357 คือปีเดียวกับที่โปรดเกล้าฯ ตั้งเมืองยโสธรนั่นเอง อุปฮาดก่ำ อุปฮาดเมือง อุบลราชธานี ไม่พอใจที่จะทำ ราชการกับ พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิดพรหม) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 2 (พ.ศ.2338-2388) จึงอพยพ ครอบครัว ไพร่พล ไปตั้งอยู่ที่ บ้านโคกกงพะเนียง พร้อมกับขอพระบรมราชานุญาตตั้งขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านโคกกง พะเนียง เป็นเมือง "เขมราษฎร์ธานี" ขึ้นกรุงเทพฯ พร้องกันนั้นก็ โปรดเกล้าฯ ตั้งอุปฮาดก่ำ เป็นพระเทพวงศ์ศาเจ้าเมือง โดยกำหนดให้ ผูกส่วยน้ำรัก 2 เลกต่อเบี้ย ป่าน 2 ขอด่อ 10 บาท เมือง "เขมราฐษร์ ธานี" ปัจจุบันคืออำเภอ เขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
3. เมืองโขงเจียมตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2364 ทั้งนี้เพราะขุนนักราชนาอินทร์ ผู้รักษาตำบลโขงเจียม มีความผิด เจ้าเมืองนคร จำปาศักดิ์ (โย่) จึงจับมาลงโทษ แล้วขอพระบรมราชานุญาต ตั้งท้าวมหาอินทร์ บุตรขุนนักอิน- ทวงษ์เป็นพระกำแหงสงคราม ยกบ้านนาค่อขึ้นเป็นเมืองโขงเจียม ขึ้นตรงต่อเมืองนคร จำปาศักดิ์ แต่พอถึง รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คงด้วยเหตุผลทางการเมืองบางประการ จึงโปรด เกล้าฯ ให้เมือง โขงเจียมขึ้นตรงต่อ เมืองเขมราฐเมื่อ พ.ศ.2371
4. เมืองเสนางคนิคมโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2388 ทั้งนี้เพราะพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิดพรหม) เจ้าเมือง อุบลราชธานีคนที่ 2 ได้นำ พระศรีสุราช เมืองตะโปน ท้าวอุปฮาด เมืองชุมพร ท้าวฝ่าย เมืองผาปัง ท้าวมหาวงศ์ เมืองคาง พาครอบครัวไพร่พล อพยพมาจาก ฝั่งซ้าย แม่น้ำโขง มาพึ่ง พระบรมโพธิ สมภาร และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านช่องนาง แขวงเมือง อุบลราชธานี เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งบ้านช่องนางเป็นเมืองเสนางคนิคม ตั้งพระศรีสุราชเป็นพระศรีสินธุสงคราม เจ้าเมือง ให้ท้าวฝ่ายเมืองผาปัง เป็น อัครฮาด ท้าวมหาวงส์เมืองคาง เป็น อัครวงศ์รักษาเมืองเสนางคนิคม ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี แต่เมื่อตั้งเมืองจริงนั้น เจ้าเมืองกลับพา พรรคพวกไพร่พล ไปตั้งเมืองที่บ้านห้วยปลาแดก หาได้ตั้งที่บ้านช่องนางดังที่โปรดเกล้าฯ ไม่
5. เมืองเดชอุดมในปีเดียวกับตั้งเมืองเสนางคนิคมนี้เอง หลวงธิเบศร์ หลวงมหาดไทย หลวงอภัย กรมการเมืองศรีสะเกษ ไม่พอใจที่จะทำ ราชการ กับพระยาวิเศษภักดีเจ้าเมืองศรีสะเกษ จึงอพยพครอบครัวไพร่พลไปตั้งอยู่บ้านน้ำโดมใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่พรมแดนระหว่าง เมืองนครจำปาศักดิ์ อุบลราชธานี ขุขันธ์ ศรีสะเกษ ติดต่อกัน มีไพร่พลทั้งหมด 2,150 คน และมีเลกฉกรรจ์ 606 คน
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเก้าฯ ให้ยกบ้านน้ำโดมใหญ่ขึ้นเป็นเมืองเดชอุดม เมื่อ วันเสาร์ แรม 5 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 2388 (จ.ศ.1207) พร้อมกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ตั้งหลวงธิเบศร์เป็นพระศรีสุระ ให้หลวงมหาดไทยเป็นหลวงปลัด ให้หลวงอภัยเป็นหลวงยกระบัตร รักษาเมือง เดชอุดมขึ้นกรุงเทพฯ
6. เมืองคำเขื่อนแก้วตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2388 ทั้งนี้เพราะพระสีหนาท พระไชยเชษฐา นายครัวเมืองตะโปน ได้พาครอบครัว ไพร่พลมาตั้งอยู่ ที่บ้าน คำเมืองแก้ว แขวงเมืองเขมราฐ พระเทพวงศา (บุญจันทร์) เมืองเขมราฐ จึงกราบบังคมทูลเพื่อขอตั้งเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านเมืองแก้ว ขึ้นเป็นเมืองคำเขื่อนแก้ว ขึ้นกับเขมราฐ
7. เมืองบัว(ปัจจุบันคือ อำเภอบุณฑริก) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2390 ทั้งนี้เพราะเจ้านครจำปาศักดิ์ (นาก) เห็นว่าการที่โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมือง เดชอุดม ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2388 นั้น เป็นผลกระทบกระเทือนต่อเขตแดน เมืองนครจำปาศักดิ์มาก เพราะจะเป็นผลให้เขตแดน ทางทิศตะวันตก ลดน้อยถอยลง จึงนำเรื่องขึ้น กราบบังคมทูล ขอยกบ้านดงกระชู (หรือบ้านไร่) ขึ้นเป็นเมือง เพื่อกันเขตแดนเมืองเดชอุดมไว้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านดงกระชู ขึ้นเป็นเมืองบัว ขึ้นตรง ต่อเมืองนครจำปาศักดิ์ และให้ท้าวโสเป็นพระอภัยธิเบศร์วิเศษสงครามเจ้าเมือง
8. เมืองอำนาจเจริญตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2401 พระเทพวงศาเจ้าเมืองเขมราฐมีใบบอกกราบบังคมทูลขอตั้งบ้านค้อใหญ่ขึ้น เป็นเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้าน ค้อใหญ่ขึ้นเป็นเมืองอำนาจเจริญ ขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ ผูกส่วยเงินแทนผลเร่วปีละ 12 ชั่ง 18 ตำลึง ตั้งท้าว จันทบรม เป็นพระอมร อำนาจเจ้าเมือง ตั้งท้าวบุตตะเป็นอุปฮาด ท้าวสิงหราชเป็นราชวงศ์ ท้าวสุริโยเป็น ราชบุตร
9. เมืองพิบูลมังสาหารตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2406 พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 3 (พ.ศ. 2388-2409) ได้มีใบบอก กราบเรียน เจ้าพระยา กำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา เพื่อนำความ กราบบังคมทูลขอตั้งบ้านกว้างลำชะโด เป็นเมือง และขอตั้งท้าวจุมมณี เป็น เจ้าเมือง พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านกว้างลำชะโด เป็นเมือง "พิบูลย์มังสาหาร" เมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 12 และ โปรดเกล้าฯ ตั้งท้าวธรรมกิตติกา (จุมมณี) เป็นพระบำรุง- ราษฎร์เจ้าเมือง ให้ท้าวโพธิ-สารราช (เสือ) เป็นอุปฮาด ท้าวสีฐาน (สาง) เป็นราชวงศ์ ท้าวขัตติยะเป็นราชบุตร โดยกำหนดให้ ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี
10. เมืองตระการพืชผลใน พ.ศ.2406 พร้อมๆ กับการขอตั้งเมือง "พิบูลมังสาหาร" พระพรหมราชวงศา เจ้าเมืองอุบลราชธานี ก็ขอตั้ง บ้านสะพือ ขึ้นเป็นเมืองด้วย และขอให้ท้าวสุริยวงศ์ (อ้ม) เป็นเจ้าเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งบ้านสะพือขึ้น เป็นเมืองตระการพืชผล ให้ท้าวสุริยวงศ์ (อ้ม) เป็นพระอมร ดลใจเจ้าเมือง เมื่อวันอาทิตย์แรม 10 ค่ำ เดือน 12 โดยกำหนดให้ ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี
11. เมืองมหาชนะชัย พร้อมๆ กับขอตั้งเมืองพิบูลย์มังสาหาร และเมืองตระการพืชผลนั้นเอง ก็ได้ ขอตั้งบ้านเวินไชย ขึ้นเป็นเมืองด้วย ซึ่งก็ได้รับ พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นเมืองมหาชนะไชย ตั้งให้ท้าวคำพูนเป็นพระเรืองไชยชนะ เจ้าเมือง ท้าวโพธิราช (ผา) เป็นอุปฮาด ท้าววรกิตติกา (ไชย) เป็นราชวงศ์ ท้าวอุเทน (หอย) เป็นราชบุตร ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี
เจ้าเมืองอุบลราชธานีในอดีต ที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมีจำนวนทั้งสิ้น 4 ท่านดังนี้
1. พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (พ.ศ.2335-2338) นามเดิม ท้าวคำผง บุตรเจ้าพระตา เป็นบุคคลสำคัญ ในการสร้างบ้าน แปงเมืองอุบล โปรดให้สร้างคู ประตูเมือง หอโฮงเจ้านายต่างๆ สร้างวัดหลวง และเสนาสนะ อาทิ สิม อาฮาม หอระฆัง พระพุทธรูป สิ่งก่อสร้าง ล้วนเลียนแบบ ศิลปแบบหลวงพระบาง
2. พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (พ.ศ.2338-2388) นามเดิม พรหม น้องชายพระประทุม (คำผง) เป็นบุตรชาย คนเล็กของ เจ้าพระตา เป็นผู้ก่อสร้างวัด ป่าหลวง (วัดป่าหลวงมณีโชติ) นำไพร่พลผู้ศรัทธาสร้างพระพุทธรูป องค์ใหญ่ก่ออิฐถือปูน เป็นที่ เคารพสักการะของชาวอุบลฯ มีชื่อว่า พระเจ้าใหญ่ อินทร์แปลง ปัจจุบัน เป็นพระประธาน ในวิหารวัดมหาวนาราม
3. พระพรหมราชวงศา (พ.ศ.2388-2409) นามเดิม กุทอง สุวรรณกูฏ บุตรพระพรหม (ทิดพรหม) ในสมัยของท่าน ธรรมยุติกนิกาย แพร่หลายในเมือง อุบลฯ เพื่อสนองพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สร้างวัดสุปัฏนาราม และบรรดา อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ร่วมกัน สร้างวัดศรีทอง (ศรีอุบลรัตนาราม) วัดสุทัศน์ ซึ่งเหตุการณ์สำคัญในสมัยนี้คือการเข้าร่วมสงคราม ขับไล่ญวน
4. เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (พ.ศ.2409-2425) เจ้าพรหมเทวา (เจ้าหน่อคำ) เป็นพี่ชายเจ้าจอมมารดา ด้วงคำใน รัชกาลที่ 4 เจ้าราชวงศ์ จำปาศักดิ์ บุตรเจ้าเสือหลานเจ้าอนุวงศ์ ในสมัยของท่านได้สร้างวัดไชยมงคล ซึ่งเป็นวัดธรรมยุตที่สี่ ในจังหวัดอุบลราชธานี สิ่งที่พึงสังเกต คือ ความขัดแย้งระหว่าง เจ้าเมืองอุปฮาด ราชวงศ์ รุนแรง เนื่องจากฝ่ายเจ้านายอุบลฯ ไม่พอใจที่ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เจ้าหน่อคำเป็นเจ้าเมือง ในสมัยนั้นจึง เกิดการทะเลาะ วิวาทขัดแย้งกัน กลั่นแกล้งกันอยู่เสมอ ท้ายที่สุด ราวปี พ.ศ.2412 เกิดกรณี เมืองไซแง ได้เกิดความบาดหมาง ทวีความรุนแรง ต่างฝ่ายต่างเกล่าโทษ ซึ่งกัน และกัน เจ้าพรหม กล่าวหาว่า อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ขัดขวางไม่ให้เก็บเงินส่วย จากไพร่ ข้างฝ่ายอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ก็กล่าวหาว่า เจ้าพรหม ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งสองฝ่ายจึงลงมา สู้ความกันที่กรุงเทพฯ จนพากันถึงแก่อสัญกรรม ต่างฝ่ายต่างสูญเสียทรัพย์สินส่วนตัวเป็นจำนวนมาก พ.ศ. 2418 เกิดศึกฮ่อ เจ้าพรหมเทวาถูกเกณฑ์ไปราชการทัพฮ่อ หลังศึกฮ่อได้อัญเชิญพระพุทธรูป 2 องค์ คือ พระทองทิพย์ และพระทอง ประดิษฐาน ที่วัดศรีทอง และวัดไชยมงคล

พ.ศ. 2422 กราบบังคมทูลขอตั้งบ้านท่ายักขุ เป็นเมืองชานุมานมณฑล บ้านพระเหลา เป็นเมืองพนานิคม ให้เมืองทั้งสอง ขึ้นกับเมือง อุบลราชธานี

การแต่งตั้งเจ้าเมืองสมัยโบราณ พบหลักฐาน เอกสารการแต่งตั้งเจ้าเมือง องค์ที่ 3 คือ พระพรหมราชวงศา (กุทอง) กล่าวถึงเครื่องยศ ที่ทางกรุงเทพฯ พระราชทานแก่ เจ้าเมืองอุบลฯ ประกอบด้วย
พานถมเครื่องในทองคำ 1 สำรับ
เครื่องยศเจ้าเมืองอุบลฯ สมัยโบราณ

คนโททองคำ 1 ใบ
กระโถนถม 1 ใบ
ลูกประคำทองคำ 1 สาย
กระบี่บั้งถม 1 อัน
เสื้อหมวกตุ้มปี 1 ชุด
สัปทนปัสตู 1 ชุด
ปืนคาบศิลาคอลาย 1 กระบอก
เสื้อเข้มขาบริ้วเลื้อย 1 ตัว
ส่านไทยปักทอง 1 ชุด
ผ้าปู 1 ผืน

มีพระบรมราชโองการ ให้เจ้าเมืองปกครองราษฎร ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ดังความว่า "...ให้โอบอ้อมอารีต่ออาณาประชาราษฎร์ อย่าเบียดเบียน ข่มเหงไพร่บ้านพลเมือง ปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ทำนุบำรุงพระสงฆ์ สามเณรให้ปฏิบัติเล่าเรืยนคันถธุระ วิปัสสนาธุระ กำชับ กำชาไพร่บ้านพลเมือง อย่าให้สูบฝิ่น ซื้อฝิ่น กินฝิ่น ให้กระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาปีละ 2 ครั้ง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น